6 กรกฎาคม 2557

การเพิ่มผลผลิตด้านบุคคลากร

การเพิ่มผลผลิตด้านบุคคลากร (Productivity through People)

                ผลผลิต (Productivity) เป็นคำที่ค่อนข้างจะเป็นนามธรรม เรารู้ว่าการเพิ่มผลผลิตเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า แต่เราเข้าใจเรื่องผลผลิตหรือการเพิ่มผลผลิตอย่างไร  เพราะต่างคนต่างก็เข้าใจเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่างกัน
                ความเข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็คือ ผลผลิตเป็นอัตราส่วนของผลิตผล (output) และปัจจัยการผลิต (input) ซึ่งผลผลิตก็จะหมายถึงผลิตได้มากกว่า หรือใช้ปัจจัยการผลิตน้อยกว่าเดิม หรือการได้มาซึ่งคุณภาพดีกว่า บริการรวดเร็วกว่า ประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำกว่าและสามารถแข่งขันได้
                คำจำกัดความดังกล่าวค่อนข้างจะแคบไป ในญี่ปุ่นเขามองว่าการเพิ่มผลผลิตเป็นเรื่องของทัศนคติ (Attitude of mind) เป็นพลังความเชื่อที่ว่ามนุษย์เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ในวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานนี้ และพรุ่งนี้ก็จะดีกว่าวันนี้ เป็นความตั้งใจที่จะปรับปรุงสถานการณ์ปัจจุบันไม่ว่าจะดีอยู่แล้ว หรือไม่ก็ตามให้ดีขึ้น เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะหาทางใช้เทคนิควิธีการใหม่ ๆ เพื่อปรับสภาพเศรษฐกิจสังคมให้ดีขึ้น
                เราสามารถอธิบายเรื่องการเพิ่มผลผลิตได้หลาย ๆ วิธี แต่ท้ายที่สุดก็คือ พวกเราแต่ละคนต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกคนต้องทำการเพิ่มผลผลิต เพราะการเพิ่มผลผลิตเป็นเรื่องของทุกคน นายจ้าง ลูกจ้าง หัวหน้างาน ผู้บริหาร พนักงาน ข้าราชการ ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ซึ่งจะเป็นแรงงานในวันข้างหน้า ถ้าทุกคนเพิ่มความพยายามเป็นพิเศษในการปรับปรุงและเพิ่มผลผลิต ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า
ความจำเป็นในการเพิ่มผลผลิต
                การปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต ไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง แต่เป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่เป้าหมาย นั่นก็คือ การยกระดับมาตรฐานการครองชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และปรับปรุงสวัสดิภาพของประชาชน ในยามเศรษฐกิจดี การเพิ่มผลผลิตจะเป็นวิถีทางที่จะทำให้ทุกคนได้ผลตอบแทนหรือค่าจ้างดีขึ้น และในยามเศรษฐกิจตกต่ำ การเพิ่มผลผลิตจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัททั้งหลายอยู่รอด และสู้กับคู่แข่งขันได้ สามารถลดต้นทุน และรักษาระดับการจ้างงานไว้โดยไม่ต้องปลดคนงานออก
                ในโลกการแข่งขันปัจจุบัน บริษัทที่สามารถบริหารธุรกิจของตนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ในจุดที่สู้กับคู่แข่งขัน และคงรักษาสภาพนี้ไว้ได้ จำเป็นต้องปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มผลผลิตจึงไม่ใช่เรื่องที่จะรณรงค์กันเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเป็นแฟชั่น แต่เป็นวิถีชีวิตของเรา


ความสำคัญของคนต่อการเพิ่มผลผลิต
                ถึงแม้ว่าเครื่องจักร เทคโนโลยีต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต แต่เราไม่สามารถจะทำให้เกิดคุณภาพหรือประสิทธิภาพสูงสุดได้ ถ้าปราศจากเสียซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังเครื่องจักร  ซึ่งได้รับการพัฒนาอบรมให้สามารถสร้างสรรงานให้ดีที่สุด

การเพิ่มผลผลิตบุคลากร (People Producitivity)
                การเพิ่มผลผลิตบุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์นั้น สำคัญอยู่ที่ทัศนคติ สไตล์ วัฒนธรรม ความร่วมมือ และค่านิยม ซึ่งเป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ วิวัฒนาการการเพิ่มผลผลิต ทรัพยากรมนุษย์ มุ่งไปที่ 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล นายจ้าง และแรงงาน และคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศเหล่านั้นทำก็เป็นสิ่งที่ปรากฎให้เห็นได้ นั่นก็คือความสำเร็จและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมาหลายปี
                ที่กล่าวมานั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะลอกเลียนแบบญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ หรือพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างเรากับญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ แล้วไม่ทำอะไร ไม่คิดแสวงหาทางปรับปรุงอะไร  เราควรที่จะดูว่าเรามีอะไรที่เหมือนกับเขา เพื่อว่าจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นเขา เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นได้เรียนรู้จากอเมริกาในเรื่องของการจัดการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) ของ Taylor   Mr. Goshi อดีตประธานของศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งญี่ปุ่น ได้เคยพูดถึงเรื่องวิวัฒนาการการเพิ่มผลผลิตในญี่ปุ่นว่า “แม้ญี่ปุ่นจะชื่นชมกับหลักการจัดการทางวิทยาศาสตร์ แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ทำตามที่อเมริกาสั่งสอน ตรงกันข้ามญี่ปุ่นเรียนรู้การยอมรับแนวคิดวิธีการ และนำปรับปรุงให้เหมาะกับสภาพการณ์ และเงื่อนไขของสังคมญี่ปุ่น
                หลักการนี้ก็ใช้ได้เป็นอย่างดีในหลาย ๆ บริษัท นักเขียน เช่น Peter และ Waterman, ผู้เขียนหนังสือที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง คือ In Search of Excellence และ Richard Schonberger ก็ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องสไตล์ของการบริหารใน In Search of Excellence ซึ่งพบว่าคุณลักษณะที่เหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง ระหว่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือ การเคารพในเอกภาพของบุคคล (Respect for the Individual) นั่นก็คือ การเพิ่มผลผลิตบุคลากร หรือทรัพยากรบุคคลนั่นเอง

การสร้างบุคลากร
                การยกย่องการให้ความสำคัญแก่บุคคล ในเรื่องการเพิ่มผลผลิต เรามุ่งเน้นที่ว่าทำอย่างไรจึงจะพัฒนาบุคคล หรือสร้างคนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
                การสร้างคนที่มีคุณภาพและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกัน และอธิบายได้กว้าง ๆ ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มา และใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพของบุคคลอย่างเต็มที่ เพื่อจะได้เกิดความสามารถในการเพิ่มผลผลิตอย่างเต็มที่ อันจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพของชีวิตที่ดีกว่า
                การสร้างคนที่มีคุณภาพ ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เพียงการให้ความรู้ หรือความชำนาญที่ดีกว่ามากกว่า แต่ยังเป็นการพร่ำสอน อบรม ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้อง และไม่ได้เจาะจงเฉพาะการอบรม ภายหลังจากเข้าทำงานแล้ว แต่ยังควรเริ่มปลูกฝังทัศนคติเรื่องการเพิ่มผลผลิตที่ถูกต้องตั้งแต่ในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา สถาบันการอบรม รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้อง เรื่องการเพิ่มผลผลิตนี้ทางสื่อต่าง ๆ เรื่องนี้รัฐบาลเองควรอย่างยิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทในอันที่จะส่งเสริมความพยายามในการเพิ่มผลผลิต โดยถือเป็นความพยายามของชาติที่จะปรับความรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ จากประเทศที่ก้าวหน้าเข้ามาใช้
                การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ไม่ควรเน้นแต่เพียงด้านเทคนิค หรือมุ่งพัฒนาเฉพาะบุคคล แต่จะต้องพิจารณาในแง่ของสังคมโดยส่วนรวมด้วย ไม่เป็นการเพียงพอที่จะพัฒนาทุกคนมุ่งเป็นเลิศทั้งในแง่ความรู้    ทัศนคติ และความชำนาญเฉพาะเรื่อง แต่ต้องพัฒนาบุคลากรเหล่านั้น ให้สามารถร่วมมือกันทำงานได้ เพื่อหน่วยงาน เพื่อสังคม ถือเป็นการพิจารณาความสัมพันธ์ของคนกับองค์การ หรือหน่วยงาน ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ต้องมุ่งพัฒนาทีมงาน ความร่วมมือและสัมพันธภาพของฝ่ายจัดการกับพนักงานด้วย
                การเพิ่มผลผลิตทรัพยากรบุคคลที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นว่าบุคคลจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อเทคโนโลยีการผลิตระดับใหม่ ๆ
                การพัฒนาบุคคลช่วยให้เขาเป็นพนักงานที่ดีขึ้น เป็นผู้บริหารที่ดีขึ้นเท่านั้นยังไม่เพียงพอ เราต้องให้ทุกคนได้เรียนรู้การทำงานกับเครื่องจักร เครื่องมือ และการทำงานภายใต้ระบบการบริหารสมัยใหม่ และท้ายที่สุดการเพิ่มผลผลิตก็ประสบความสำเร็จ เมื่อคนที่ได้รับการพัฒนาแล้ว สามารถผลิตสินค้าบริการด้วยคุณภาพที่ดีที่สุด และประหยัดต้นทุนที่สุด
                ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิผล เราต้องพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัย คือ ต้องพิจารณาความสัมพันธ์ของคน เครื่องจักร และระบบไปด้วยกัน นั่นก็คือ ภาพรวมของการเพิ่มผลผลิต

ภาพรวมของการเพิ่มผลผลิต
                การเพิ่มผลผลิตโดยรวมขององค์การมีปัจจัยสำคัญ 2 ประการ  คือ
-          การเพิ่มผลผลิตทุน
-          การเพิ่มผลผลิตกำลังคน
การเพิ่มผลผลิตทุน (Capital Productivity) ทำได้ 2 ลักษณะ คือ
-          เครื่องจักร (Hardware)
-          เทคโนโลยี (Software)
เครื่องจักรนั้นครอบคลุมถึงเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ ขณะที่ Software หมายถึง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ และการผลิต รวมทั้ง application engineering

การเพิ่มผลผลิตของกำลังคน หรือการเพิ่มผลผลิตทรัพยากรบุคคล มีปัจจัยอยู่ 6 ประการ ที่เป็นตัวกำหนดการเพิ่มผลผลิตกำลังคน คือ
1.        ทัศนคติในการทำงาน(Work attitude)
ดังเช่นคำจำกัดความว่าการเพิ่มผลผลิตเป็นทัศนคติของจิตใจ ที่จะแสวงหาทางปรับปรุงอยู่เสมอ ทำอย่างไรจึงจะทำให้พนักงานทุกคนในหน่วยงาน มีทัศนคติเรื่องการปรับปรุง ซึ่งในญี่ปุ่นเรียกว่า “Kaizen-mind” คือ ทัศนคติที่ว่า การปฏิบัติงานต่าง ๆ มีหนทางที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ หากเราได้ใช้ความพยายาม (เวลา และเงินบ้างก็จะพบว่าการปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก ถ้าหากทุกคนมี Kaizen mind และยึดถือว่าการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตเป็นเป้าสูงสุด ต่างก็จะแสวงหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงงานของเขา เมื่อนั้นหน่วยงานก็จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล
ทัศนคติในการทำงานเกี่ยวพันกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือ
วินัย                   -  การตรงต่อเวลา การปฏิบัติตามกฎระเบียบ การปฏิบัติตามคู่มือ การรักษาความสะอาดเรียบร้อยของสถานที่ทำงาน
Team Work      -  ความตั้งใจที่จะร่วมมือกันระหว่างพนักงานและทำงานเป็นทีม
การเสนอความคิดเพื่อหน่วยงาน  -  โดยผ่านการเสนอข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงงาน (Suggestion)                                  รวมทั้งความเต็มใจที่จะยอมรับงานเพิ่มหรือการทำงานนอกเวลา

2.        ระดับทักษะของแรงงาน (Level of Skill)
เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำงาน จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้การศึกษาทั้งพื้นฐานและทักษะที่ยากขึ้น เพื่อให้คนงานพร้อมที่จะรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อผลิตสินค้าบริการให้ดีขึ้น แม้ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ก็ยังต้องทำการพัฒนาทักษะของคนงานอยู่เสมอ และบางครั้งก็เป็นปัญหา เพราะการยกระดับทักษะของพนักงานของคนทำได้ยาก เป็นคนงานที่อายุมากต้องจ้างออกให้ทำเรื่อง lifetime employment ไม่ใช่เอกลักษณ์ของการบริหารงานแบบญี่ปุ่นอีกต่อไป
ในสิงคโปร์ได้มีการลงทุนและวางแผนในระดับชาติ เพื่อยกระดับทักษะของคนงาน แม้ว่าจะเป็นการลงทุนน้อย เมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือเกาหลี แต่ก็เป็นการเริ่มต้นในทางที่ถูกต้อง ทันกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไป

3.        สัมพันธภาพของพนักงานและฝ่ายจัดการ (Labor Management relations)
สัมพันธภาพระหว่างพนักงานและฝ่ายจัดการ เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มผลผลิต คือ แม้ว่าเรามีเครื่องจักรที่ดีทันสมัยที่สุด คนงานที่ถูกอบรมพัฒนามาอย่างดีเลิศ เขาก็ไม่สามารถทำงานได้ดี การเพิ่มผลผลิตสูงไม่ได้ถ้าสัมพันธภาพระหว่างเขากับฝ่ายจัดการไม่ดี ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้น เปรียบเทียบกับดินที่ดี ย่อมสามารถปลูกไม้ผลให้ได้ผลที่มีรสชาติ คือ การเพิ่มผลผลิตนั่นเอง

4.        การบริหารการเพิ่มผลผลิต (Productivity Management)
การบริหารการเพิ่มผลผลิต  หมายถึง การดำเนินการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตด้วยการบริหารทรัพยากร และระบบงานอย่างมีประสิทธิภาพ

5.        ประสิทธิภาพของการวางแผนกำลังคน (Manpower Planning)
คือ  การวางแผนกำลังคนจำนวนบุคลากร การใช้ประโยชน์จากบุคลากร การขยายงาน ฯลฯ หากมีการวางแผนเรื่องกำลังคนไว้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ การปรับปรุง การเพิ่มผลผลิตก็ง่าย
               
6.        Entrepreneurship
ลักษณะของผู้ประกอบการ คือ การอยู่ในธุรกิจถูกต้องแล้ว การเสี่ยง การสร้างสรรค์ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ  ในธุรกิจ

                ปัจจัยทั้ง 6 ประการที่กล่าวมานี้ จะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มผลผลิตทรัพยากรบุคคลของหน่วยงาน
                กว่านซี ผู้ว่าการรัฐฉี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เคยกล่าวไว้เมื่อ 700 ปีก่อนคริสตศักราชว่า
                หากหวังผล 1 ปี  ให้ปลูกข้าว
                หากหวังผล 10 ปี  ให้ปลูกผลไม้
                หากหวังผลชั่วลูกชั่วหลานให้ปลูกบุคคล

                ดังนั้น  เราควรที่จะลงทุนปลูกฝังทัศนคติของการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต  และสร้างสรรค์คนของเราให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ เพื่อหวังผลความก้าวหน้าตลอดไป


ที่มา:http://www.maxpro.co.th/articles/4-productivity_thru_people.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น