6 กรกฎาคม 2557

การเพิ่มผลผลิตโดยหลักการ 4 Zero

หลักการของ   4  Zero  หรือ  4  ศูนย์   คือหลักการของการไม่ให้มี   ไม่ให้เกิดในสิ่งที่ไม่ต้องการคือ
1. Zero Defect   (ของเสียเป็นศูนย์) คือการไม่ให้มีของเสียเลยในกระบวนการผลิต  เพราะถ้าหากมีของเสียแล้วต้องเสียเวลาในการซ่อมแซมส่วนที่เสีย    หรือต้องทำใหม่    และวัตถุดิบก็ต้องสิ้นเปลืองตามไปด้วย    ดังนั้นเราจึงไม่ให้มีของเสียของวัตถุดิบเกิดขึ้นด้วย    เพราะหากมีการทำงานบกพร่องหรือมีของเสียมาก   องค์การก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น    ทั้งในการตรวจสอบ   ปรับปรุง  แก้ไขงาน    หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบเพิ่ม    องค์การควรปลูกฝังให้คนงานปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบ    ไม่ให้เกิดความบกพร่องใด ๆ  เลย   เพื่อที่จะได้เป็นการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น   อีกทั้งองค์การจะได้ไม่มีปัญหาในด้านการผลิตด้วย
2.  Zero   Delay   (การรอเป็นศูนย์)     ในการรออะไรอย่างหนึ่งหรือรอใครสักคนหนึ่งนั้นเป็นการเสียเวลาและสูญเปล่าอย่างเห็นได้ชัด    และเมื่อมาพิจารณาในกระบวนการผลิต   ถ้าหากมีการรอเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการรอเครื่องจักร    วัสดุอุปกรณ์    วัตถุดิบ    หรือแม้กระทั่งรอคน   ก็เป็นการสูญเปล่าสูญเสียทั้งสิ้น    ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการรอ     ผู้บริหารควรจะมีการวางแผนในการทำงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตให้รัดกุม     ไม่ให้มีการรอในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเลย  ผู้บริหารจะต้องจัดการการรอให้เป็นศูนย์    คือไม่ให้มีการรอเลยในกระบวนการผลิต   ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตจนถึงมือลูกค้า    ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตการรอจะต้องเป็นศูนย์   เช่น   เครื่องจักรต้องพร้อมที่จะทำงานโดยไม่ต้องเสียเวลาในการซ่อมแซม   เพราะได้มีการบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา   หรือวัตถุดิบต้องมีพร้อมอยู่ในคลังเก็บวัสดุเสมอ    เมื่อต้องการใช้วัตถุดิบก็สามารถเบิกมาใช้ได้ทันทีไม่ต้องรอสั่งวัตถุดิบ   เป็นต้น
3.  Zero  Inventory   (พัสดุคงคลังต้องเป็นศูนย์)   ในหลักของการให้พัสดุคงคลังเป็นศูนย์นี้ต้องทราบก่อนว่าในระบบการผลิตจะมีพัสดุคงคลังอยู่  3  ลักษณะคือ
-วัตถุดิบ
-ผลิตภัณฑ์ระหว่างกระบวนการผลิต
-ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

เพื่อให้พัสดุคงคลังเป็นศูนย์    คือจะต้องไม่มีการเก็บพัสดุไม่ว่าจะในลักษณะใดเลยไว้ในคลังเก็บพัสดุ   ถ้าหากมีพัสดุเก็บไว้ในคลังย่อมหมายถึงว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเช่าโกดัง    ค่าขนย้ายวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป    ซึ่งองค์การต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาเพิ่มขึ้นด้วย    ดังนั้นควรจะต้องมีการจัดการไม่ให้มีพัสดุคงคลังเหลืออยู่   โดยไม่ควรเก็บวัตถุดิบไว้เพื่อการผลิตเลย   ควรจะสั่งวัตถุดิบมาให้พอและทันต่อการผลิต   และเมื่อผลิตสำเร็จแล้ว   ก็ควรจัดส่งถึงมือลูกค้าโดยไม่เสียค่าเช่าโกดังในการจัดเก็บสินค้า    ผู้บริหารจะต้องมีการวางแผนและจัดการอย่างรัดกุมในการให้พัสดุคงคลังเป็นศูนย์   เพราะหากทำได้อย่างเป็นระบบแล้วก็จะเป็นการเพิ่มผลผลิต   และเป็นการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  ลงด้วย   ถือว่าเป็นการลดต้นทุนได้อีกวิธีหนึ่ง
4.  Zero   Accident  (อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์)    ก็คือ   การไม่ให้มีการเกิดอุบัติเหตุขึ้นเลย  เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุย่อมทำให้เกิดความสูญเสียต่าง ๆ   แก่องค์การ   หากเกิดอุบัติเหตุกับคนงานอาจจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตย่อมเป็นผลเสียทั้งสิ้น    เนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุกับใครคนใดคนหนึ่งเพื่อนหรือผู้ร่วมงานจะต้องหยุดงานของตนเพื่อมาให้การช่วยเหลือรวมทั้งตามไปโรงพยาบาลด้วย  ส่วนพวกที่เหลืออยู่ก็จะเสียขวัญตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การทำงานชะงักไป    ยิ่งถ้าหากเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องจักรก็จะต้องหยุดการทำงานของเครื่องจักรทำให้เกิดการสูญเปล่าของแรงงานและอาจจะต้องเสียวัสดุที่ใช้ไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุย่อมหมายถึงการสูญเสียอย่างเดียวเท่านั้น    ดังนั้นผู้บริหารควรจะมีการปลูกฝังให้คนงานได้ตระหนักและเพิ่มความระมัดระวัง   มีความรับผิดชอบในด้านความปลอดภัยในการทำงาน    ซึ่งในการออกแบบกระบวนการผลิตจึงต้องเอื้อต่อการทำงาน    แสงสว่างพอดี    สถานที่ทำงานต้องไม่อับทึบ    มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก    อุณหภูมิต้องไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป    ถ้าหากต้องมีการใช้พัสดุที่เป็นสารพิษจะต้องมีการให้ความรู้และควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดระมัดระวังยิ่งขึ้น    ถ้าหากทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้ก็ย่อมจะทำให้องค์การลดความสูญเสียได้

ที่มา :http://intimeproduct19.tripod.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น